โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร

บนทางหลวงหมายเลข 4
ช่วง ระนอง - พังงา ตอน บ.นาใน - บ.กำพวน

การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม

               จากการตรวจสอบข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม พบว่ามีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ (Ramsar Site) อยู่ในระยะ 2 กิโลเมตร ดังนั้น จึงเข้าข่ายโครงการประเภททางหลวงหรือถนน ซึ่งต้องศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนการพัฒนาโครงการ โดยในการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมมีดังนี้

แนวทางในการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

               ในกระบวนการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจรบนทางหลวงหมายเลข 4 ระนอง - พังงา ตอน บ.นาใน - บ.กำพวนนั้น จะดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่ถูกต้องที่สุดบนพื้นฐานทางวิชาการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะดำเนินการศึกษาตามขอบเขตของงาน (TOR) ของกรมทางหลวงเป็นอย่างน้อย รวมทั้งได้ใช้แนวทางและหลักเกณฑ์ในการศึกษาและจัดเตรียมรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนี้


     1. แนวทางในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการทางหลวง (Guidelines for Preparation of Environmental Impact Statement of a Road Scheme) ปรับปรุงครั้งที่ 6 ซึ่งจัดเตรียมโดยกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สำนักแผนงาน กรมทางหลวง (กรมทางหลวง, 2563)

     2. แนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการด้านการคมนาคม ซึ่งจัดเตรียมโดยกลุ่มคมนาคม สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (http://www.onep.go.th/EIA/index.php?option=com_content&view=article&id=114:2014-03-20-07-47-37&catid=12)

     3. ระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2563


1) การรวบรวมนโยบาย มติ กฎระเบียบและข้อกำหนดต่างๆ และตรวจสอบข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม

          ดำเนินการรวบรวมและทบทวนนโยบาย มติ กฎระเบียบและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการ และดำเนินการตรวจสอบข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายและตามมติคณะรัฐมนตรี เช่น ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ อุทยานประวัติศาสตร์ มรดกโลก เป็นต้น และพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เช่น แหล่งโบราณสถานและโบราณคดี ศาสนสถาน สถานศึกษา และสถานพยาบาล เป็นต้น

2) การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE)

          เป็นขั้นตอนเพื่อคัดกรองปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการทั้งลักษณะโครงการ หรือกิจกรรมก่อสร้างต่างๆ ของโครงการครอบคลุมในระยะก่อนก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง ระยะดำเนินการและบำรุงรักษา ครอบคลุมปัจจัยสิ่งแวดล้อมจำนวน 37 ปัจจัย โดยหากพบว่ามีประเด็นหรือข้อจำกัดที่สำคัญที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการที่มีผลกระทบในระดับต่ำ จะเสนอมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นที่เหมาะสมต่อไป และปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบทางลบและความสำคัญอยู่ในระดับปานกลาง-สูง จะนำไปศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) เพื่อเสนอแนะมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

3) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (Environmental Impact Assessment : EIA)

          เป็นการนำประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญจากการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นมาดำเนินการศึกษาโดยการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงการสำรวจและเก็บตัวอย่างทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและสังคม จากนั้นดำเนินการวิเคราะห์ และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมอย่างละเอียด และกำหนดเป็นมาตรการป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกำหนดเป็นแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ